Translate

วันพุธที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เรื่อง นางปติปูชิกา (๓๖)


ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดา  เมื่อประทับอยู่ในกรุงสาวัตถี  ทรงปรารภหญิงชื่อปติปูชิกา  ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "ปุปฺผานิ เทว"  เป็นต้น

 เรื่องตั้งขึ้นในดาวดึงส์เทวโลก.

                                         เทพธิดาจุติแล้วเกิดในกรุงสาวัตถี

ได้ยินว่า เทพบุตรนามว่ามาลาภารี  ในดาวดึงส์เทวโลกนั้น  มีนางอัปสรพันหนึ่งแวดล้อมแล้ว  เข้าไปสู่สวน.  เทพธิดา ๕๐๐ ขึ้นสู่ต้นไม้  ยังดอกไม้ให้ตกอยู่.  เทพธิดา ๕๐๐ เก็บเอาดอกไม้ทีเทพธิดาเหล่านั้นให้ตกแล้ว  ประดับเทพบุตร.  บรรดาเทพธิดาเหล่านั้น  เทพธิดาองค์หนึ่ง  จุติบนกิ่งไม้นั่นแล.  สรีระดับไป  ดุจเปลวประทีป  นางถือปฏิสนธิในเรือนแห่งตระกูลหนึ่ง  ในกรุงสาวัตถี  ในเวลาที่นางเกิดแล้วเป็นหญิงระลึกชาติได้  ระลึกอยู่ว่า  "เราเป็นภริยาของมาลาภารีเทพบุตร"  ถึงความเจริญ กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น  ปรารถนาการเกิดเฉพาะในสำหนักสามี.  นางแม้ไปสู่ตระกูลอื่น.  ในเวลามีอายุ ๑๖ ปี  ถวายสลากภัต  ปักขิกภัต  และวัสสาวาสิกภัตเป็นต้นแล้ว  ย่อมกล่าวว่า  "ส่วนแห่งบุญนี้"  จงเป็นปัจจัยเพื่อประโยชน์แก่อันบังเกิดในสำนักสามีของเรา."

                               
                                     จุติจากมนุษยโลกแล้วไปเกิดในสวรรค์

ลำดับนั้น  ภิกษุทั้งหลายทราบว่า  "นางนี้ ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้วย่อมปรารถนาสามีเท่านั้น"  จึงขนานนามของนางว่า  "ปติปูชิกา."

แม้นางปติปูชิกานั้น  ย่อมปฏิบัติโรงฉัน  เข้าไปตั้งน้ำฉัน  ปูอาสนะเป็นนิตย์.  มนุษย์แม้พวกอื่น  ใคร่เพื่อจะถวายสลากภัตเป็นต้น  นำมามอบให้ด้วยคำว่า  "แม่  ท่านจงจัดแจงภัตเหล่านี้  แก่ภิกษุสงฆ์."  แม้นางเดินไปเดินมาอยู่โดยทำนองนั้น  ได้กุศลธรรม ๕๖ ทุกย่างเท้า.  นางตั้งครรภ์แล้ว.  นางก็คลอดบุตร  โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน.  ในกาลที่บุตรนั้นเดินได้  นางได้บุตรแม้อื่น ๆ รวม ๔ คน.  ในวันหนึ่ง  นางถวายทาน  ทำการบูชา ฟังธรรม รักษาสิกขาบท  ในเวลาเป็นที่สุดแห่งวัน  ก็ทำกาละด้วยโรคชนิดหนึ่ง  ซึ่งบังเกิดขึ้นในขณะนั้น  แล้วบังเกิดในสำนักสามีเดิมของตน


                                         อายุของมนุษย์ประมาณ ๑๐๐ ปี

ฝ่ายนางเทพธิดานอกนี้  กำลังประดับอยู่นั่นเอง  ตลอดกาลเท่านี้.  เทพบุตรเห็นนางนั้น  กล่าวว่า  "เธอหายหน้าไปตั้งแต่เช้า,  เธอไปไหนมา"

         เทพธิดา.     ดิฉันจุติค่ะ  นาย.

         เทพบุตร.     เธอพูดอะไร

         เทพธิดา.     ข้อนั้นเป็นอย่างนี้  นาย.

         เทพบุตร.     เธอเกิดแล้วในที่ไหน.

         เทพธิดา.     เกิดในเรือนแห่งตระกูล  ในกรุงสาวัตถี

         เทพบุตร.     เธอดำรงอยูในกรุงสาวัตถีนั้นสิ้นกาลเท่าไร

         เทพธิดา.     ข้าแต่นาย  ดิฉันออกจากท้องมารดา  โดยกาลอันล่วงไป ๑๐ เดือน  ในเวลาอายุ ๑๖ ปี ไปสู่ตระกูลสามี  คลอดบุตร ๔ คน  ทำบุญมีทานเป็นต้น  ปรารถนาถึงนาย  มาบังเกิดแล้วในสำนักของนายตามเดิม.

         เทพบุตร.    พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณเท่านี้เกิดแล้ว  เป็นผู้ประมาทเหมือนหลับ  ยังกาลให้ล่วงไปหรือ  หรือทำบุญมีทานเป็นต้น

         เทพธิดา.    พูดอะไร นาย.  พวกมนุษย์ประมาทเป็นนิตย์  ประหนึ่งถือเอาอายุตั้งอสงไขยเกิดแล้้ว  ประหนึ่งว่าไม่แก่ไม่ตาย.
         ความสังเวชเป็นอันมาก  ได้เกิดขึ้นแก่มาลาภารีเทพบุตรว่า "ทราบว่า  พวกมนุษย์ถือเอาอายุประมาณ ๑๐๐ ปีเกิดแล้ว  ประมาทนอนหลับอยู่.  เมื่อไรหนอ  จึงจักพ้นจากทุกข์ได้

     
                                      ๑๐๐ ปีของมนุษย์เท่า ๑ วันในสวรรค์

ก็ ๑๐๐ ปีของพวกเรา  เป็นคืนหนึ่งวันหนึ่งของพวกเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์,  ๓๐  ราตรีโดยราตรีนั้น เป็นเดือนหนึ่ง  กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น  เป็นเดือนหนึ่ง,  กำหนดด้วย ๑๒ เดือนโดยเดือนนั้น  เป็นปีหนึ่ง,  ๑๐๐ ปีทิพย์ โดยปีนั้น  เป็นประมาณอายุของเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์,   ๑,๐๐๐ ปีทิพย์นั้น  โดยการนับในมนุษย์เป็น ๓ โกฏิ ๖ ล้านปี.

เพราะฉะนั้น  แม้วันเดียวของเทพบุตรนั้น ก็ยังไม่ล่วงไป เป็นเป็นกาลเช่นครู่เดียวเท่านั้น.  ขึ้นชื่อว่าความประมาทของสัตว์ผูมีอายุน้อยอย่างนี้ ไม่ความอย่างยิ่งแล

ในวันรุ่งขึ้น  พวกภิกษุเข้าไปสู่บ้าน  เห็นโรงฉันยังไม่ได้จัดอาสนะยังไม่ปู  น้ำฉันยังไม่ได้ตั้งไว้  จึงกล่าวว่า  "นางปติปูชิกาไปไหน"    

ชาวบ้าน. ท่านผู้เจริญ พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจักเห็นนาง  ณ ที่ ไหน  วันวานนี้  เมื่อพระผู้เป็นเจ้าฉันแล้ว (กลับ) ไป,  นางตายในตอนเย็น.

ภิกษุปุถุชนฟังคำนั้นแล้ว  ระลึกถึงอุปการะของนางนั้น  ไม่อาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้,   ธรรมสังเวชได้เกิดแก่พระขีณาสพ.  ภิกษุเหล่านั้นทำภัตกิจแล้ว ไปวิหาร ถวายบังคมพระศาสดา  ทูลถามว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  อุบาสิกาชื่อปติปูชิกา ลุกขึ้นเสร็จสรรพแล้ว ทำบุญมีประการต่าง ๆ ปรารถนาถึงสามีเท่านั้น,  บัดนี้ นางตายแล้ว (ไป) เกิด ณ ที่ไหน"

พระศาสดา.  ภิกษุทั้งหลาย  นางปรารถนาถึงสามีนั้น ก็หามิได้, มาลาภารีเทพบุตร ในดาวดึงส์พิภพ เป็นสามีของนาง,  นางเคลื่อนจากที่ประดับดอกไม้ของสามีนั้นแล้ว  ไปบังเกิดในสำนักของสามีนั้นนั่นแลอีก

ภิกษุ.  ได้ยินว่า อย่างนั้นหรือ  พระเจ้าข้า.

พระศาสดา.  อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย.

ภิกษุ น่าสังเวช ! ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายน้อย (จริง)  พระเจ้าข้า  เช้าตรู่ นางอังคาสพวกข้าพระองค์  ตอนเย็น  ตายด้วยพยาธิที่เกิดขึ้น.

พระศาสดา.  อย่างนั้น ภิกษุทั้งหลาย ชื่อว่า  ชีวิตของสัต์ทั้งหลายน้อย (จริง).  เหตุนั้นแล มัจจุราชผู้กระทำซึ่งที่สุด ยังสัตว์เหล่านี้ซึ่งไม่อิ่ม ด้วยวัตถุกาม และกิเลสกามนั่นแล  ให้เป็นไปในอำนาจของตนแล้ว ย่อมพาเอาสัตว์ที่คร่ำครวญ ร่ำไรไป"  ดังนี้แล้ว  ตรัสพระคาถานี้ว่า..

                          ๔. ปุปฺผานิ เหว ปจินนฺตํ      พฺยาสตฺตมนสํ  นรํ
                              อติตฺตํเยว   กาเมสุ         อนฺตโก   กุรุเต   วสํ ฯ

                           "มัจจุ  ผู้ทำซึ่งที่สุด   กระทำนระผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่าง ๆ
                     เลือกเก็บดอกไม้อยู่เทียว  ผู้ไม่อิ่มในกามทั้งหลายนั่นแล  สู่อำนาจ."

                                                    
                                                          แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น  บาทพระคาถาว่า  ปุปฺผานิ  เทว  ปจินนฺตํ  ความว่า  ผู้มัวเลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณทั้งหลาย  อันเนื่องด้วยอัตภาพและเนื่องด้วยเครื่องอุปกรณ์อยู่  เหมือนนายมาลาการ  เลือกเก็บดอกไม้ต่างชนิดอยู่ในสวนดอกไม้ฉะนั้น.

บาทพระคาถาว่า  พฺยาสตฺตมนสํ  นรํ  ความว่า  ผู้มีจิตซ่านไปโดยอาการต่าง ๆ ในอารมณ์อันยังไม่ถึงแล้ว  ด้วยสามารถแห่งความปรารถนาในอารมณ์ที่ถึงแล้ว  ด้วยสามารถแห่งความยินดี.

บาทพระคาถาว่า  อติตฺตํเยว  กาเมสุ  ความว่า  ผู้ไม่อิ่มในวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายนั่นแล  ด้วยการแสวงหาบ้าง  ด้วยการได้เฉพาะบ้าง  ด้วยการใช้สอยบ้าง  ด้วยการเก็บไว้บ้าง.

บาทพระคาถาว่า  อนฺตโก  กุรุเต  วสํ  ความว่า  มัจจุผู้ทำซึ่่งที่สุด  กล่าวคือมรณะ  พานระผู้คร่ำครวญ ร่ำไร ไปอยู่ ให้ถึงอำนาจของตน.

ในเวลาจบเทศนา  ชนเป็นอันมาก  บรรลุอริยผลทั้งหลาย  มีโสดาปัตติผลเป็นต้น  เทศนามีประโยชน์แก่มหาชน  ดังนี้แล.

                                                 จบ  เรื่องนางปติปูชิกา.

                      พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๒
  
                      
                                              ขออุทิศส่วนกุศลแก่สรรพสัตว์


                                                ................................