Translate

วันอาทิตย์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

สมาธิสูตร



                                                   
 ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
                                     
                                         พระสุตตันตปิฎก  สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค เล่ม ๓

                                                          ว่าด้วยสมาธิเป็นเหตุเกิดปัญญา

                    (๒๗)  ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-
                    สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน  อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว  พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ  ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง  ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร  ย่อมรู้ชัดซึ่งความเกิดและความดับแห่งรูป  ความเกิดและความดับแห่งเวทนา  ความเกิดและความดับแห่งสัญญา  ความเกิดและความดับแห่งสังขาร  ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

                 (๒๘)  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป  อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา  อะไรเป็นความเกิดแห่งสัญญา  อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร   อะไรเป็นความเกิดแห่งวิญญาณ  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  บุคคลในโลกนี้  ย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่  ก็บุคคลย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งอะไร   ย่อมเพลิดเพลิน ย่อมพร่ำถึง ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  เมื่อเพลิดเพลิน พร่ำถึง ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  ความยินดีก็เกิดขึ้น  ความยินดีในรูป  นั้นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย  จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนั้น  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  บุคคลย่อมเพลิดเพลินซึ่งเวทนา ฯลฯ  ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสัญญา ฯลฯ  ย่อมเพลิดเพลินซึ่งสังขาร ฯลฯ ย่อมเพลิดเพลิน  ย่อมพร่ำถึง  ย่อมดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ  เมื่อเพลิดเพลิน  พร่ำถึง  ดื่มด่ำอยู่ซึ่งวิญญาณ  ความยินดีย่อมเกิดขึ้น  ความยินดีในวิญญาณ  นั่นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย นั่นเป็นอุปาทาน  เพราะอุปาทานของบุคคลนั้นเป็นปัจจัย จึงมีภพ  เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ  เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรา มรณะ โสกะ ปริเทว ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส  ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี่เป็นความเกิดแห่งรูป  นี่เป็นความเกิดแห่งเวทนา  นี่เป็นความเกิดแห่งสัญญา  นี่เป็นความเกิดแห่งสังขาร  นี่เป็นความเกิดแห่งวิญญาณ

               (๒๙)  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ก็อะไรเป็นความดับแห่งรูป  อะไรเป็นความดับแห่งเวทนา  อะไรเป็นความดับแห่งสัญญา  อะไรเป็นความดับแห่งสังขาร  อะไรเป็นความดับแห่งวิญญาณ   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุในธรรมวินัยนี้  ย่อมไม่เพลิดเพลิน  ย่อมไม่พร่ำถึง  ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่  ก็ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน  ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งรูป  ความยินดีในรูปย่อมดับไป  เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป  อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ ฯลฯ  ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้  ภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ย่อมไม่พร่ำถึง ย่อมไม่ดื่มด่ำซึ่งเวทนา...   ซึ่งสัญญา...   ซึ่งสังขาร...   ซึ่งวิญญาณ   เมื่อเธอไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำถึง  ไม่ดื่มด่ำอยู่ซึ่งเวทนา...   ซึ่งสัญญา...   ซึ่งสังขาร...   ซึ่งวิญญาณ  ความยินดีในเวทนา...   ในสัญญา...    ในสังขาร...   ในวิญญาณ  ย่อมดับไป  เพราะความยินดีของภิกษุนั้นดับไป  อุปาทานจึงดับ  เพราะอุปาทานดับ  ภพจึงดับ ฯลฯ   ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้  ย่อมมีด้วยประการอย่างนี้   ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  นี้เป็นความดับแห่งรูป  นี้เป็นความดับแห่งเวทนา  นี้เป็นความดับแห่งสัญญา  นี้เป็นความดับแห่งสังขาร  นี้เป็นความดับแห่งวิญญาณ

                                                       
                                                                    จบ  สมาธิสูตรที่ ๕

                                                      ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                        ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์