Translate

วันพุธที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เวรไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับได้ด้วยไม่ผูกเวร

พระสุตตันตปิฎก  ขุททกนิกาย  คาถาธรรมบทเล่ม ๑  ภาค  ๒  ตอน  ๑   หน้าที่ ๗๓

ในสมัยนั้น  พระศาสดา  ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท  นางกุลธิดานั้น  ให้บุตรนอนลงเคียงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตแล้ว  ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพระองค์เถิด"  สุมนเทพ  ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มพระตู  ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน  พระศาสดารับสั่งเรียพระอานนทเถระมาแล้ว  ตรัสว่า  "อานนท์  เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา"

พระเถระเรียกนางยักษิณีนั้นมาแล้ว  นางกุลธิดา  กราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  นางยักษิณีนี้มา"  พระศาสดาตรัสว่า  "นางยักษิณีจงมาเถิด  เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย"  ดังนี้แล้ว  ได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนแล้วว่า  "เหตุไร ?  เจ้าจึงทำอย่างนั้น  ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธเจ้า  ผู้เช่นเราแล้ว  เวรของพวกเจ้า  จักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์  เหมือนเวรของงูกับพังพอน  ของหมีกับไม้สะคร้อ  และของกากับนกเค้า  เหตุไฉน  พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน ? "  เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร  หาระงับได้ด้วยเวรไม่"  ดังนี้แล้ว  ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า

๔.  น  หิ  เวเรน  เวรานิ        สมุมนฺตีธ  กุทาจนํ
      
     อเวเรน   จ   สมฺมนฺติ     เอส   ธมฺโม   สนนฺตโน.

"ในกาลไหน ๆ  เวรทั้งหลายในโลกนี้  ย่อมไม่ระงับด้วยเวรเลย

ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร  ธรรมนี้เป็นของเก่า."


แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้  บทว่า  น หิ  เวเรน  เป็นต้น  ความว่าเหมือนอย่างว่า  บุคคล  แม้เมื่อล้างที่ที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาด  มีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น  ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล  ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด  หายกลิ่นเหม็นได้   โดยที่แท้   ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก  ฉันใด  บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่   ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่   ย่อมไม่อาจระงับด้วยเวรได้  โดยที่แท้  เขาชื่อว่าทำเวรนั่นเองให้ยิ่งขึ้น  ฉันนั้นนั่นเทียว  แม้ในกาลไหน ๆ  ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย  ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร  โดยที่แท้  ชื่อว่าย่อมเจริญอย่างเดียว  ด้วยประการฉะนี้

สองบทว่า  อเวเรน  จ  สมฺมนฺติ  ความว่า  เหมือนอย่างว่าของไม่สะอาด  มีน้ำลายเป็นต้นเหล่านั้น  อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้   ที่นั้นย่อมเป็นที่หมดจด   ไม่มีกลิ่นเหม็น  ฉันใด  เวรทั้งหลายย่อมระงับ  คือ ย่อมสงบ  ได้แก่  ย่อมถึงความไม่มีด้วยความไม่มีเวร  คือ ด้วยน้ำคือขันติและเมตตา  ด้วยการทำไว้ในใจแยบคายและด้วยการพิจารณา  ฉันนั้นนั่นเทียว

บาทพระคาถาว่า  เอส  ธมฺนตโน  ความว่า  ธรรมนี้  คือ  ที่นับถือ  ความสงบเวร  ด้วยความไม่มีเวร  เป็นของเก่า  คือ เป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า  พระปัจเจกพุทธเจ้า  และพระขีณาสพทั้งหลายทุก ๆ  พระองค์ ดำเนินไปแล้ว

ในกาลจบพระคาถา  นางยักษิณินั้น  ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว  เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์  แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว.