Translate

วันอังคารที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2556

ความพินาศ ๕ ประการ

ข้อความในสัมโมหวิโนทนี อรรถกถา สัจจวิภังคนิทเทส นิทเทสโสกะ ข้อ ๑๙๔ แสดงถึงธรรมที่ทำให้ปราศจากสุข  ได้แก่ พยสนะ  คือ ความพินาศ ๕ ประการ ได้แก่

ญาติพยสนะ๑   โภคพยสนะ๑   โรคพยสนะ๑   สีลพยสนะ๑   ทิฏฐิพยสนะ๑.....ทุกคนจะต้องประสบกับความทุกข์ ความเศร้าโศกจากพยสนะเหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นเลย

๑.  ญาติพยสนะ  ความสูญเสียสิ้นไปแห่งญาติพี่น้อง  หรือความพินาศอันเกิดแก่ญาติด้วยภัยจากโจรผู้ร้ายและโรคภัยไข้เจ็บเป็นต้น  ญาติซึ่งเป็นที่รัก  ทุกข์ทั้งหลายต้องมาจากโลภะเป็นเหตุ  ถ้ายังมีความยินดี พอใจ ติดข้อง ต้องการ  ในสัตว์  ในบุคคล  ในวัตถุสิ่งของใด ก็จะต้องมีทุกข์อันเกิดจากของสิ่งนั้น  เมื่อมีความสูญสิ้นไปของญาติ ก็จะต้องมีความเศร้าโศกโทมนัส  หรือเมื่อญาติประสบกับภัยต่าง ๆ  อันเกิดจากถูกโจรภัย หรือโรคภัยเบียดเบียน ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องด้วยก็จะมีความทุกข์ความเสียใจด้วย แต่ถ้าเป็นผู้อื่น ก็คงจะมีความเห็นอกเห็นใจไม่มากนัก ไม่ถึงกับเป็นทุกข์ใหญ่โต

๒.  โภคพยสนะ  คือ ความพินาศซึ่งเกิดแต่โภคทรัพย์  หมายถึงความสิ้นไปแห่งโภคทรัพย์ ด้วยอำนาจของราชภัยหรือโจรภัย เป็นต้น  เมื่อยังไม่เกิดกับแต่ละคน  ก็จะรู้สึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา  ทรัพย์สมบัติเสื่อมไป สูญไป หายไป ถ้าเป็นจำนวนนิดหน่อย ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยเศร้าโศกเสียใจหรือเดือดร้อนเท่าไร  แต่ถ้าหากว่าต้องสูญเสียทรัพย์สมบัติมาก   ก็จะมีความรู้สึกหวั่นไหวและเศร้าโศกเสียใจมาก

 เพราะฉะนั้น ขอให้ท่านพิจารณาว่า ถ้าขณะใดก็ตามเมื่อมีการเสื่อมทรัพย์หรือสูญเสียทรัพย์สมบัติ  แม้ว่าเป็นจำนวนมาก ก็เป็นเพียงเสมือนการทดลองการจาก เพราะเหตุว่า ต่อไปภายหน้า เราจะต้องมีการจากที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นอีก  ต้องจากทรัพย์สิ้นทั้งหมด ไม่ใช่เพียงแค่บางส่วนหรือส่วนใหญ่  โดยการสิ้นชีวิต  เพราะฉะนั้น เวลาที่ยังไม่สิ้นชีวิต ถ้ามีการที่จะต้องเสื่อมทรัพย์ไม่ว่าประการใดก็ตาม ก็เหมือนเป็นการทดลองหรือการพิสูจน์ความติดในทรัพย์นั้น

๓.   โรคพยสนะ  คือ ความพินาศอันเกิดจากโรคเบียดเบียน  เพราะเหตุว่า โรคต่าง ๆ ย่อมทำให้ผู้มีโรคพินาศได้  ตราบใดที่ยังไม่มีโรคเบียดเบียน ก็ยังไม่รู้สึกเป็นทุกข์  ถ้าถูกโรคร้ายแรงเบียดเบียน ก็จะเห็นว่า ทำให้เกิดทุกข์โทมนัสมาก ตามกำลังของโรคนั้น ๆ  ซึ่งหนีไม่พ้น และไม่มีใครทราบล่วงหน้าได้ว่า ภายหน้าจะมีโรคร้ายแรงขนาดไหนเกิดกับตน ซึ่งก็แล้วแต่เหตุที่ได้กระทำไว้แล้ว

๔.   สีลพยสนะ   ความพินาศไปซึ่งเกิดแต่ศีล  คือ ความทุศีลย่อมนำให้ศีลสิ้นไป  เวลาที่มีทุจริตกรรม  ขคือ การล่วงศีลเกิดขึ้น ย่อมได้รับทุกข์ด้วยประการต่าง ๆ ตั้งแต่เสื่อมเสียชื่อเสียง  ไม่มีใครคบหาสมาคมด้วย และยังจะต้องได้รับผลหนักหรือเบาจากการทำอกุศลกรรม อันเนื่องจากทุุศีลนั้น ๆ  ตามกาลเวลาด้วย

๕.   ทิฏฐิพยสนะ  ความเสื่อมหรือความพินาศซึ่งเกิดจากความเห็นผิด  อันเป็นอันตรายมาก  เพราะไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความคิดพิจารณาที่ถูกต้องในเหตุผลของสภาพธรรม ตามความเป็นจริงได้   เพราะฉะนั้นก็ย่อมจะนำโทษภัยใหญ่หลวงมาให้ตลอดในสังสารวัฏฏ์ได้ ถ้าตราบใดที่ยังไม่พ้นจากความเห็นผิด สังสารวัฏฏ์ย่อมไม่จบสิ้นได้

               
                      ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน

                                                              .............................................

วันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2556

คนดุและคนสงบเสงี่ยม



                      ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า  พระองค์นั้น

ข้อความในสังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค คามนิสังยุตต์ จัณฑสูตร ข้อ ๕๘๖  มีข้อความว่า

ครั้งนั้นแล นายจัณฑคามณีเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง  ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอ เป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความนับว่า เป็นคนดุ เป็นคนดุ ก็อะไรหนอเป็นเหตุปัจจัยเครื่องให้บุคคลบางคนในโลกนี้ ถึงความเป็นคนสงบเสงี่ยม เป็นคนสงบเสงี่ยม

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า

ดูกร นายคามณี  คนบางคนในโลกนี้ยังละราคะไม่ได้  เพราะเป็นผู้ละราคะไม่ได้  คนอื่นจึงยั่วให้โกรธ คนที่ยังละราคะไม่ได้  คนอื่นยั่วให้โกรธ ย่อมแสดงความโกรธให้ปรากฏ ผู้นั้นจึงนับได้ว่าเป็นคนดุ

ข้อความต่อไปได้ทรงแสดงถึงคนที่ยังละโทสะไม่ได้ และคนที่ละโมหะไม่ได้ โดยนัยเดียวกัน  ส่วนผู้ที่ละราคะ โทสะ โมหะ ได้แล้ว ก็ตรงกันข้าม  คือเป็นผู้สงบเสงี่ยม คือ คนอื่นไม่สามารถยั่วให้โกรธได้ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มีราคะ โทสะ โมหะน้อย

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว  นายจัณฑคามณีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระธรรมเทศนาของพระองค์แจ่มแจ้งยิ่งนัก  พระผู้มีพระภาคทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกหนทางให้แก่คนหลงทาง  หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า  คนมีจักษุจักเห็นรูปฉะนั้น  ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระผู้มีพระภาค กับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นสรณะ  ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่าเป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต  ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปฯ

ท่านผู้อ่านคงจะสังเกตเห็นข้อความกล่าวซ้ำ ๆ ในพระไตรปิฏก หรือในชีวิตประจำวัน ก็จะต้องมีเหตุที่ทำให้มีการกล่าวคำซ้ำ ๆ เช่นนั้น  ซึ่งสามารถพิจารณารู้ได้.....

ข้อความในมโนรถปุรนี  อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต วรรคที่ ๒ อธิบายอภิกันตศัพท์ มีว่า

ผู้รู้พึงทำการพูดซ้ำ ๆ ในความกลัว  ความโกรธ  การสรรเสริญ  ในความรีบด่วน ในความโกลาหล ในความอัศจรรย์  ในความร่าเริง  ในความโศกเศร้า และในความเลื่อมใสดังนี้

เพราะฉะนั้น  ทุกขณะที่เป็นไปในชีวิตประจำวัน  อาจจะพูดซ้ำ ๆ สติระลึกได้  รู้ว่าในขณะนั้นกลัว  หรือว่าขณะนั้นโกรธ หรือว่าขณะนั้นเศร้าโศก หรือขณะนั้นเป็นความโกลาหล หรือเป็นการสรรเสริญ  การรีบด่วน เป็นการรื่นเริง  เป็นความเลื่อมใส  ทุกขณะในชีวิตประจำวันเป็นของจริง ก็เป็นนามธรรมและรูปธรรมแต่ละขณะที่ปรากฏ  เพราะฉะนั้น  สติสามารถที่จะระลึกได้  ไม่ว่าจะเป็นอกุศลธรรมที่เล็กน้อยสักเพียงใด  และไม่ว่าจะอยู่ในภพภูมิใด จะเป็นโทสมูลจิต ซึ่งเป็นความทุกข์อย่างเบาบางเล็ก ๆ น้อย ๆ  หรือว่าจะเป็นโทสมูลจิตซึ่งเป็นความทุกข์ เป็นโทมนัสเวทนาอย่างรุนแรง  สติก็สามารถจะระลึกได้ ซึ่งสำหรับในกามภูมิ สุขกับทุกข์ก็เจือปนกัน แต่ว่าในบางภูมิ สุขย่อมมากกว่าทุกข์  แต่ก็ไม่่ได้หมายความว่า จะปราศจากซึ่งทุกข์เสียเลย.


                   ขออุทิศส่วนกุศลให้แก่สรรพสัตว์และขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่าน


                                                 ........................................................