Translate

วันอังคารที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง พระติสสเถระ [๓] (ต่อ)

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑  หน้า ๖๒

                                                   
                                                        ดาบสทั้งสองต่างสาปกัน

ท.  ชฎิลโกง  เราจะสาปท่าน

น.  ท่านอาจารย์  ท่านอย่าทำอย่างนี้เลย.

เธอมิเอื้อเฟื้อถ้อยคำของนารทดาบสนั้น  ยังขืนสาปนารทดาบสนั้น  (ด้วยคาถา) ว่า
"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีปกติกำจัดความมืด,  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง"

นารทดาบส  กล่าวว่า  "ท่านอาจารย์  โทษของผมไม่มี  เมื่อกำลังพูดอยู่ทีเดียว  ท่านได้สาปแล้ว.  โทษของผู้ใดมีอยู่  ขอศีรษะของผู้นั้นจงแตก.  ของผู้ไม่มีโทษ จงอย่าแตก"  ดังนี้แล้ว ได้สาป (ด้วยคาถา) ว่า

"พระอาทิตย์ มีรัศมีตั้ง ๑,๐๐๐  มีเดชตั้ง ๑๐๐  มีปกติกำจัดความมืด.  พอพระอาทิตย์ขึ้นมาในเวลาเช้า  ขอศีรษะของท่านจงแตกออก ๗ เสี่ยง."

และนารทดาบสนั้น มีอานุภาพใหญ่  ตามระลึกชาติได้ ๘๐ กัลป์ คือ ในอดีตกาล  ๔๐ กัลป์  ในอนาคตกาล ๔๐ กัลป์.  เพราะเหตุนั้นท่านคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใครหนอแล ?"  ดังนี้  เมื่อใคร่ครวญไป  ก็ทราบว่า  "จักตกในเบื้องบนแห่งอาจารย์"  อาศัยความกรุณาในเธอ  จึงได้ห้ามอรุณขึ้นด้วยกำลังฤทธิ์"

                                                 ประชาชนเดือดร้อนตลอดถึงพระราชา

ชาวพระนคร เมื่ออรุณไม่ขึ้นอยู่ ก็พากันไปสู่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพิไรว่า  "ข้าแต่สมมติเทพ เมื่อพระองค์ทรงครองราชสมบัติอยู่  อรุณไม่ขึ้น.  ขอพระองค์จงทรงพระกรุณาโปรดให้อรุณขึ้น  เพื่อข้าพระองค์ทั้งหลายเถิด."

พระราชา ทรงพิจารณาจริยาอนุวัตร  มีกายกรรมเป็นต้น ของพระองค์ มิได้ทรงเห็นการอันไม่สมควรอะไร ๆ จึงทรงพระดำริว่า  "เหตุอะไรหนอแล ?"  ดังนี้  ทรงระแวงว่า  "ชะรอยจะเป็นความวิวาทของพวกบรรพชิต"  ดังนี้แล้ว  จึงตรัสถามว่า  "พวกบรรพชิตในพระนครนี้มีอยู่บ้างหรือ ?"  เมื่อมีผู้กราบทูลว่า  "เมื่อเวลาเย็นวานนี้  มีพวกบรรพชิตมาสู่โรงนายช่างหม้อ  พระเจ้าข้า"  พระราชามีราชบุรุษถือคบนำเสด็จไปที่นั้น  ในทันใดนั้นเอง  ทรงอภิวาทพระนารทดาบสแล้ว  ประทับ ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ตรัสถามว่า

"ผู้เป็นเจ้านารทะ  การงานทั้งหลายของพวกชมพูทวีป ย่อมเป็นไปไม่ได้,  โลกเกิดมืดแล้ว  เพราะเหตุอะไร  ท่านอันข้าพเจ้าถามแล้ว  ได้โปรดบอกเหตุนั้นแก่ข้าพเจ้า."

นารทดาบส  เล่าเรื่องทั้งปวงถวายเสร็จแล้ว  ถวายพระพรว่า  "อาตมภาพ อันดาบสรูปนี้สาปแล้วเพราะเหตุนี้.  เมื่อเป็นอย่างนั้น  อาตมภาพจึงได้กล่าวสาปบ้างว่า  "โทษของข้าพเจ้าไม่มี.  โทษของผู้ใดมี;  ความสาปจงตกในเบื้องบนแห่งผู้นั้นแล"  ก็ครั้นสาปแล้วจึงคิดว่า  "ความสาปจักตกในเบื้องบนแห่งใดหนอแล ?"  เมื่อใคร่ครวญไปก็เห็นว่า  "ในเวลาพระอาทิตย์ขึ้น  ศีรษะของอาจารย์จักแตกออก ๗ เสี่ยง"  ดังนี้แล้ว อาศัยความกรุณาในท่าน  จึงมิให้อรุณขึ้นไป.

ร.  ก็อย่างไร  อันตรายจะไม่พึงมีแก่ท่านเล่า  ขอรับ ?.

น.  ถ้าท่านขอโทษอาตมภาพเสีย อันตรายก็จักไม่พึงมี.

ร.  ถ้าอย่างนั้น  ท่านจงขอโทษเสียเถิด.

ท.  ชฎิลนั่นเหยียบอาตมภาพ ที่ชฎาและที่คอ อาตมภาพไม่ยอมขอโทษชฎิลโกงนั่น.

ร.  ขอท่านจงขอโทษเสียเถิด ขอรับ  ท่านอย่าทำอย่างนี้.

เทวลดาบสทูลว่า  "อาตมภาพ ไม่ยอมขอโทษ"  แม้เมื่อพระราชาตรัสว่า  "ศีรษะของท่านจักแตกออก ๗ เสี่ยง "  ดังนี้  ก็ยังไม่ยอมขอโทษอยู่นั่นเอง.

ลำดับนั้น  พระราชาตรัสกับเธอว่า  "ท่านจักไม่ยอมขอโทษตามชอบใจของตนหรือ ?"  ดังนี้แล้ว  จึงรับสั่งให้ราชบุรุษจักเทวลดาบสนั้นที่มือ ที่เท้า ที่ท้อง ที่คอ  ให้ล้มลงที่บาทมูลแห่งนารทดาบส.

นารทดาบสกล่าวว่า  "อาจารย์ เชิญท่านลุกขึ้นเถิด,  ข้าพเจ้ายอมยกโทษให้แก่ท่าน  ดังนี้แล้ว ถวายพระพรว่า  "มหาบพิตร ดาบสรูปนี้หาได้ขอโทษอาตมภาพตามใจสมัครไม่, มีสระอยู่ในที่ไม่ไกลสระหนึ่ง  ขอพระองค์รับสั่งให้เธอยืนทูนก้อนดินเหนียวบนศีรษะ  นารทดาบสเรียกเทวลดาบสมาว่า  "ท่านอาจารย์  ครั้นฤทธิ์อันผมคลายแล้ว.  เมื่อแสงพระอาทิตย์ตั้งขึ้นอยู่.  ท่านพึงดำลงเสียในน้ำแล้ว  โผล่ขึ้นไปเสียโดยทางอื่น."

 ก้อนดินเหนียวบนศีรษะของเทวลดาบสนั้น  พอรัศมีแห่งพระอาทิตย์ถูกเข้าเท่านั้น  ก็แตกออก ๗ เสี่ยง,  เทวลดาบสนั้น  ดำลงหนีไปที่อื่นแล้ว.

                                                       เวรไม่ระงับด้วยผูกเวร

พระศาสดา  ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  พระราชาในกาลนั้น ได้เป็นอานนท์แล้ว.  เทวลดาบสได้เป็นติสสะแล้ว.  นารทดาบส ได้เป็นเราเอง.  ถึงในครั้งนั้น  ติสสะนี้ก็เป็นผู้ว่ายากอย่างนี้เหมือนกัน"  ดังนี้แล้ว รับสั่งเรียกติสสะมาแล้ว  ตรัสว่า  "ติสสะ ก้เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า  เราถูกผู้โน้นด่าแล้ว ถูกผู้โน้นประหารแล้ว  ถูกผู้โน้นชนะแล้ว  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราไปแล้ว"  ดังนี้  ชื่อว่าเวรย่อมไม่ระงับได้,  แต่เมื่อภิกษุไม่เข้าไปผูกอยู่อย่างนั้นนั่นแล เวรย่อมระงับได้,  ดังนี้แล  ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า ;-

                              ๓.   อกฺโกจฺฉิ  มํ  อวธิ  มํ     อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                           
                               เย  จ  ตํ   อุปมยฺยนฺติ     เวรํ   เตสํ   น   สมฺมติ.
                            
                               อกฺโกจฺฉิ  มํ    อวธิ   มํ        อชินิ   มํ   อาหาสิ   เม
                          
                               เย   จ   ตํ    นูปนยฺหนฺติ  เวรํ    เตสูปสมฺมติ.

                               "ก็ชนเหล่าใด  เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า  'ผู้โน้นได้ด่าเรา  ผู้โน้นได้ตีเรา  ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมไม่ระงับได้,  ส่วนชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้นไว้ว่า 'ผู้โน้นได้ด่าเรา ผู้โน้นได้ติเรา ผู้โน้นได้ชนะเรา  ผู้โน้นได้ลักสิ่งของของเราแล้ว'  เวรของชนเหล่านั้นย่อมระงับได้"

                                                                      แก้อรรถ

บรรดาเหล่านั้น  บทว่า  อกฺโกจฺฉิ  คือ  ด่าแล้ว  บทว่า  อวธิ  คือ  ประหารแล้ว.  บทว่า  อชินิ คือ  ได้ชนะเราด้วยการอ้างพยานโกงบ้าง  ด้วยการกล่าวโต้ตอบถ้อยคำบ้าง  ด้วยการทำให้ยิ่งกว่าการทำบ้าง

บทว่า  อหาสิ คือ ผู้โน้นได้ลักของ คือบรรดาวัตถุทั้งหลายมีผ้าเป็นต้น สิ่งใดสิ่งหนึ่งของเรา

สองบทว่า เย  จ  ตํ  เป็นต้น  ความว่า ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง คือ  เทพดาหรือมนุษย์ คฤหัสถ์หรือบรรพชิต เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือ มีวัตถุเป็นต้นว่า  "คนโน้นได้ด่าเรา"  ดุจพวกคนขับเกวียน ขันทุบเกวียนด้วยชะเนาะ และดุจพวกประมง  อันสิ่งของมีปลาเน่า เป็นต้น ด้วยวัตถุมีหญ้าคาเป็นต้น  บ่อย ๆ ,  เวรของพวกเขาเกิดขึ้นแล้ว  คราวเดียวย่อมไม่ระงับ  คือว่าย่อมไม่สงบลงได้

บาทพระคาถาว่า  เย จ  ตํ  นูปมยฺหติ  ความว่า  ชนเหล่าใดไม่เข้าไปผูกความโกรธนั้น คือมีคำด่าเป็นต้นเป็นที่ตั้ง  ด้วยอำนาจการไม่ระลึกถึงและการไม่ทำไว้ในใจบ้าง  ด้วยอำนาจการพิจารณาเห็นธรรมอย่างนี้ว่า  "ใคร ๆ ผู้หาโทษมิได้  แม้ท่านคงจักด่าแล้วในภพก่อน  คงจักประหารแล้ว (ในภพก่อน)  คงจักเบิกพยานโกงชนะแล้ว (ในภพก่อน)  สิ่งของอะไร ๆ  ของใคร ๆ  ท่านคงจักข่มเหงชิงเอาแล้ว (ในภพก่อน)  เพราะฉะนั้น  ท่านแม้เป็นผู้ไม่มีโทษ  จึงได้ผลที่ไม่น่าปรารถนา มีคำด่าเป็นต้น"  ดังนี้บ้าง.  เวรของชนเหล่าานั้น  แม้เกิดแล้วเพราะความประมาท  ย่อมสงบได้ด้วยการไม่ผูก (โกรธ) นี้  ดุจไฟไม่มี เธอเกิดขึ้นแล้วดับไปฉะนั้นแล.

ในกาลจบเทศนา  ภิกษุแสนหนึ่ง ได้บรรลุอริยผลทั้งหลายมีโสตาาปัตติผลเป็นต้น.  พระธรรมเทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์แก่มหาชนแล้ว.  พระติสสเถระ ถึงเป็นคนว่ายาก ก็กลายเป็นคนว่าง่ายแล้วดังนี้แล.

                                                          เรื่อง พระติสสเถระ  จบ.

วันจันทร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

เรื่อง พระติสสเถระ [๓]

พระสุตตันตปิฏก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท  เล่ม ๑  ภาค ๒  ตอน ๑ หน้าที่ ๕๗

ข้อความเบื้องต้น

พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน  ทรงปรารภพระติสสเถระ  ได้ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า  "อกฺโกจฺฉิ มํ  อวธิ มํ"  เป็นต้น

พระติสสเถระเป็นผู้ว่ายากและถือตัว
ดังได้สดับมา  ท่านติสสเถระนั้น เป็นโอรสพระปิตุจฉาของพระผู้มีพระภาคเจ้า บวชในกาลเป็นคนแก่ บริโภคลาภสักการะอันเกิดขึ้นแล้ว ในพระพุทธศาสนา มีร่างกายอ้วนพี มีจีวรรีดเรียบร้อยแล้ว โดยมากนั่งอยู่ที่โรงฉันกลางวิหาร.  ภิกษุอาคันตุกะทั้งหลาย มาแล้วเพื่อประโยชน์จะเฝ้าพระตถาคต  ไปสู่สำนักแห่งเธอ  ด้วยสำคัญว่า  "นี่ จักเป็นพระเถระผู้ใหญ่"  ดังนี้แล้ว ถามถึงวัตร ถามถึงกิจควรทำ มีนวดเท้าเป็นต้น.  เธอนิ่งเสีย

ลำดับนั้น  ภิกษุหนุ่มองค์หนึ่งถามเธอว่า  "ท่านมีพรรษาเท่าไร"  เมื่อเธอตอบว่า  "ถึงไม่มีพรรษา ข้าพเจ้าบวชแล้ว ในกาลเป็นคนแก่"  จึงกล่าวว่า  "ท่านขรัวตาผู้มีอายุ  ฝึกได้ยาก"  ท่านไม่รู้จักประมาณตน.  ท่านเห็นพระเถระผู้ใหญ่มีประมาณเท่านี้แล้ว  ไม่ทำวัตรแม้มาตรว่าสามีจิกรรม  เมื่อวัตรอันพระเถระเหล่่านี้ถามโดยเอื้อเฟิ้ออยู่  ท่านนิ่งเสีย.  แม้มาตรว่าความรังเกียจ ก็ไม่มีแก่ท่าน"   ดังนี้ จึงโบกมือ (เป็นที่รุกราน)  เธอยังขัตติยมานะให้เกิดขึ้นแล้ว  ถามว่า  "พวกท่านมาสู่สำนักใคร ?"  เมื่ออาคันตุกภิกษุเหล่านั้นตอบว่า  "มาสู่สำนักของพระศาสดา"  จึงกล่าวว่า  "ก็พวกท่านคาดข้าพเจ้าว่า  "นี่ใคร ?"  ข้าพเจ้าจักตัดมูล (ตัดความเป็นสมณะ) ของพวกท่านเสียให้ได้"  ดังนี้แล้ว  ร้องไห้เป็นทุกข์เสียใจ  ได้สู่สำนักของพระศาสดาแล้ว.

พระติสสะทูลเรื่องแด่พระศาสดา
ลำดับนั้น  พระศาสดาตรัสถามเธอว่า  "ติสสะ เป็นอะไรหนอ ?"  เธอจึงเป็นทุกข์ เสียใจ มีน้ำตาอาบหน้า ร้องไห้ มาแล้ว"  ฝ่ายภิกษุเหล่านั้น (คือพวกภิกษุอาคันติกะ)  คิดว่า  "ภิกษุนั้น คงไปทำกรรมขุ่นมัวอะไร ๆ "   ดังนี้ จึงไปกับพระติสสะนั้นทีเดียว  ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว  ได้นั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง  พระติสสะนั้น  อันพระศาสดาตรัสถามแล้ว  ได้กราบทูลว่า  "พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุเหล่านี้ด่าข้าพระองค์"

ศ.  ก็เธอนั่งแล้วที่ไหน ?
ต.  ที่โรงฉันกลางวิหาร  พระเจ้าข้า.
ศ.  ภิกษุเหล่านี้มา เธอได้เห็นหรือ ?
ต.  เห็น  พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ลุกขึ้นทำการต้อนรับหรือ ?
ต.  ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ถามโดยเอื้อเฟื้อถึงการรับบริขาร ของภิกษุเหล่านั้นหรือ ?
ต.  ข้าพระองค์ไมได้ถามโดยเอื้อเฝื้อ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอได้ถามโดยเอื้อเฝื้อถึงธรรมเนียม หรือน้ำดื่มหรือ ?"
ต.  ข้าพระองค์ไม่ได้ถามโดยเอื้อเฝื้อ พระเจ้าข้า
ศ.  เธอนำอาสนะมาแล้ว ทำการนวดเท้าให้หรือ ?
ต.  ไม่ได้ทำ พระเจ้าข้า

พระติสสไม่ยอมขอขมาภิกษุ
ศ.  ติสสะ วัตรทั้งปวงนั้น เธอควรทำแก่ภิกษุผู้แก่.  การที่เธอไม่ทำวัตรทั้งปวงนั้น  นั่งอยู่ในท่ามกลางวิหาร ไม่สมควร.  โทษของเธอเองมี.  เธอจงขอโทษภิกษุทั้งหลายนั้นเสีย.

ต.  พระองค์ผู้เจริญ  พวกภิกษุนี้ได้ด่าข้าพระองค์.  ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษเธอ.

ศ.  ติสสะ  เธออย่าได้ทำอย่างนี้.  โทษของเธอเองมี  เธอจงขอโทษภิกษุเหล่านั้นเสีย.

ต.  พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ไม่ยอมขอโทษภิกษุเหล่านี้.

ลำดับนั้น  พระศาสดา เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า  "ข้าแด่พระองค์ผู้เจริญ  พระติสสะนี้เป็นคนว่ายาก"  ดังนี้แล้ว  ตรัสว่า  "ภิกษุทั้งหลาย  ติสสะนี้  มิใช่เป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น.  ถึงในกาลก่อน  ติสสะนี้ก็เป็นคนว่ายากเหมือนกัน."  เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า  "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  ข้าพระองค์ทั้งหลาย  ทราบความที่เธอเป็นผู้ว่ายากแต่ในบัดนี้เท่านั้น.  เธอได้ทำอะไรไว้ในอดีตกาล"  ดังนี้แล้ว  จึงตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย  ถ้าอย่างนั้น  ท่านทั้งหลายจงฟัง"  ดังนี้แล้ว  ได้ทรงนำเรื่องอดีตมา.

บุพกรรมของพระติสสะ
ในอดีตกาล  เมื่อพระเจ้าพาราณสี เสวยราชสมบัติอยู่ในเมืองพาราณสี.  ดาบสชื่อ เทวละ  อยู่ในหิมวันตประเทศ ๘ เดือน  ใคร่จะเข้าไปอาศัยพระนครอยู่  ๔  เดือน  เพื่อต้องการจะเสพรสเค็มและรสเปรี้ยว  จึงมาจากหิมวันตประเทศ พบพวกคนเฝ้าประตูพระนคร  จึงถามว่า  "พวกบรรพชิตผู้มาถึงพระนครนี้แล้ว  ย่อมพักอยู่ที่ไหนกัน ?"  เขาทั้งหลายบอกว่า  "ที่โรงนายช่างหม้อ  ขอรับ."  เธอไปสู่โรงนายช่างหม้อแล้ว  ยืนที่ประตูกล่าวว่า  "ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ.  ข้าพเจ้าขอพักอยู่ในโรงสักราตรีหนึ่ง."  ช่างหม้อกล่าวว่า  "กลางคืน กิจของข้าพเจ้าที่โรงไม่มี.  โรงใหญ่.  นิมนต์ท่านอยู่ตามสบายเถิด  ขอรับ"  ดังนี้แล้ว  มอบโรงถวาย

เมื่อเธอเข้าไปนั่งแล้ว  ดาบสแม้อีกองค์หนึ่ง  ชื่อนารทะมาจากหินวันตประเทศ ได้ขอพักอยู่ราตรีหนึ่งกะนายช่างหม้อ.  นายช่างหม้อคิดว่า  "ดาบสองค์มาก่อน พึงเป็นผู้อยากจะอยู่ด้วยกันกับดาบสองค์นี้หรือไม่  (ก็ไม่ทราบ).  เราจะปลีกตัวเสีย"   ดังนี้แล้ว  จึงกล่าวว่า  "ถ้าท่านองค์เข้าไปก่อน  จักพอใจไซร้.  ท่านจงพักอยู่ตามความพอใจของดาบสองค์ก่อนเถิดขอรับ"  นารทดาบสนั้  เข้าไปหาเธอแล้วกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ ถ้าท่านไม่มีความหนักใจ.  ผมขอพักอยู่ในโรงนี้ราตรีหนึ่งเถิด"  เมื่อเธอกล่าวว่า  "โรงใหญ่.  ท่านจงเข้าไปอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่งเภิด"  ดังนี้แล้ว  จึงเข้าไปนั่ง  ณ ที่อีกส่วนหนึ่งแห่งเธอผู้เข้าไปก่อน

โทษของการนอนไม่เป็นที่
ดาบสทั้งสองรูป  พูดปราศรัยชวนให้ระลึกถึงกันแล้ว.  ในเวลาจะนอน.  นารทดาบสกำหนดที่นอนแห่งดาบสและประตูแล้วจึงนอน.  ส่วนเทวลดาบสนั้น  เมื่อจะนอน หาได้นอนในที่ของตนไม่. (ไพล่) นอนขวางที่กลางประตู.  นารทดาบส  เมื่อออกไปในราครี  ได้เหยียบที่ชฎาของเธอ.  เมื่อเธอกล่าวว่า  "ใครเหยียบเรา ?"  นารทดาบสกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ ผมเอง."

ท. ชฏิลโกง ท่านมาจากป่าแล้ว เหยียบที่ชฎาของเรา.

น. ท่านอาจารย์  ผมไม่ทราบว่าท่านนอนที่นี้  ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด.  เมื่อเธอกำลังบ่นอยู่นั้นแล.  ออกไปข้างนอกแล้ว.  เทวลดาบสนอกนี้คิดว่า  "ดาบสรูปนี้  แม้เข้ามาจะพึงเหยียบเรา"  ดังนี้แล้วจึงได้ได้กลับนอนหันศีรษะไปทางเท้า

ฝ่ายนารทดาบส  เมื่อจะเข้าไปคิดว่า  "แม้ทีแรก เราได้ผิดแล้วในท่านอาจารย์.  บัดนี้ เราจะเข้าไปโดยทางเท้าของท่าน"  ดังนี้แล้ว เมื่อมา ได้เหยียบที่คอแห่งเธอ.  เมื่อเธอกล่าวว่า  "นี่ใคร ?"  จึงกล่าวว่า "ท่านอาจารย์  ผมเอง"  เมื่อเธอกล่าวว่า  "ชฏิลโกง ทีแรกท่านเหยียบที่ชฎาของเราแล้ว  เดี๋ยวนี้เหยียบที่คอเราอีก  เราจักสาปท่าน"  จึงกล่าวว่า  "ท่านอาจารย์ โทษของผมไม่มี.  ผมไม่ทราบว่าท่านนอนแล้วอย่างนั้น.  ผมเข้ามาด้วยคิดว่า  "แม้ทีแรกความผิดของเรามีอยู่.  เดี๋ยวนี้เราจักเข้าไปโดยทางเท้าท่าน  ดังนี้  ขอท่านจงอดโทษแก่ผมเถิด"

                                                   ....................................................